คณะภราดา ซิสเตอร์ โรงเรียนลาซาล เข้าร่วมประชุมสัมมนาสภาการศึกษาประจำปี ครั้งที่ 42
หัวข้อ  โรงเรียนคาทอลิกไทย พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนด้วยอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก
วันที่ 19 - 22 สิงหาคม 2555


    สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ประชุมสัมมนาสภาการศึกษาประจำปี ครั้งที่ 42 หัวข้อ "โรงเรียนคาทอลิกไทย ในบริบทของประชาคมอาเซียน" มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาทั้งหมด 465 คน ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 19 ถึงวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2012 ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งปีนี้สังฆมณฑลจันทบุรี โดยคุณพ่อเอนก ธรรมนิต เป็นประธานจัดการประชุมสัมมนา

    พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ประธานสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดนิทรรศการหนังสือและอุปกรณ์ทางการศึกษา จากนั้นนำผู้เข้าร่วมทุกท่านถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 และต่อด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณเปิดการประชุมสัมมนา




    พระคุณเจ้ากล่าวเปิดการประชุมสัมมนาว่า พระศาสนจักรสากลประกาศให้ปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม เป็นต้นไป ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2013 เป็นปีแห่งความเชื่อ ที่เราจะต้องฟื้นฟูความเชื่อของเราในทุกระดับ ในทุกมิติ และพระคุณเจ้ายังได้อ้างถึงพระดำรัสของพระสันตะปาปาในหลายเรื่องด้วยกัน สิ่งที่สำคัญมากคือการศึกษาคาทอลิกจะต้องเป็นแสงสว่างส่องโลก และต้องเป็นเกลือที่จะต้องรักษาความเค็ม เกลือที่รักษาความเค็มคือคุณค่าของพระวรสารทั้งหลาย นี่คือสิ่งซึ่งนักการศึกษาคาทอลิกจะต้องพยายามเก็บเอาไว้

     ภราดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ นายกสมาคมสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ ชี้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมต้องมองไปข้างหน้า เมื่อเด็กคนหนึ่งมาเข้าเรียนกับเราในชั้นอนุบาลก็ดี ประถม 1 ก็ดี สิบสองปีหลังจากนั้นเราพอจะมองเห็นหรือเปล่าว่า เขาจะเป็นอย่างไร ในลักษณะไหนที่เราจะอบรมเขา และบราเดอร์ยังได้กล่าวถึงแวนคูเวอร์ ซิมโพเซียม (Vancouver Symposium) ซึ่งจะมองเรื่องการศึกษาคาทอลิกของไทยในอนาคต สำหรับโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

    คุณพ่อเดชา อาภรณ์รัตน์ เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพิ่งเดินทางกลับมาจากการประชุมด้านการศึกษา ประเทศเวียดนาม ที่จัดโดยฝ่ายการศึกษาของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (FABC) คุณพ่อแบ่งปันหลายเรื่อง และเน้นเป็นพิเศษคือประวัติการศึกษาคาทอลิก (Catholic Education Identity) ประวัติการศึกษาคาทอลิกนั้นสำคัญมาก ทำไมโรงเรียนคาทอลิกจึงมีความต่างจากโรงเรียนอื่นๆ และความต่างนั้นคืออะไร เราต้องมาลงที่อัตลักษณ์การศึกษา คาทอลิกอีก

    คุณพ่อจรัล ทองปิยะภูมิ จิตตาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่าพระศาสนจักรสากลได้มองว่าการศึกษาในปัจจุบันเป็นสถานะที่เรียกว่าภาวะฉุกเฉินทางการศึกษา เวลาที่ประเทศใดประกาศภาวะฉุกเฉิน นั่นเป็นช่วงเวลาวิกฤติแล้วของประเทศชาติ และดังนั้นเมื่อพระศาสนจักรสากลกล่าวว่าการศึกษาทั่วโลกเวลานี้เป็นภาวะวิกฤติ แสดงว่าเราต้องเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ทำไม? เพราะพระศาสนจักรสากลระบุไว้ว่า เป็นสิ่งที่ลำบากยากเข็ญเหลือเกิน ในทุกที่ ในการสั่งสอน ในการอบรมเด็กและเยาวชนในสมัยนี้ เพราะว่ามีสิ่งอื่นมาเร้าและมาดึงดูดความสนใจของเขาให้ออกจากห้องเรียนในการเรียนการสอน ซึ่งโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมากเหลือเกิน และตรงนี้เองเราจะกระทำอะไร และเราจะกระทำอย่างไร

    วันที่สองของการสัมมนา มีการนำเสนอในมุมมองของ 4 ฝ่าย ในสภาการศึกษาคาทอลิกฯ ซึ่งประกอบด้วย 1. ฝ่ายวิชาการ 2. ฝ่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาโรงเรียนคาทอลิก 3. ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และ 4. ฝ่ายอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก แต่ละฝ่ายได้รับการจัดสรรเวลาประมาณครึ่งวัน ที่จะจัดหาเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา และตรงตามประเด็นที่กำหนดไว้

    ดร.ศิริวรรณ อาจศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนภูเขียว จ.ชัยภูมิ บรรยายหัวข้อ "โรงเรียนสพฐ. กับการขับเคลื่อนสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล รองรับความเป็นประชาคมอาเซียน"




     ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพ่ออภิสิทธิ์ กฤษเจริญ บรรยายหัวข้อ "งานวิจัยระดับมาตรฐานสากล เพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา"

    ผศ.ดร.กฤตินี สรุปถึงอัตลักษณ์ของโรงเรียนคาทอลิกจากประสบการณ์ และการทำงานว่า "จากประสบการณ์ที่ได้เรียนที่โรงเรียนคาทอลิก (อาจารย์เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวีรศิลป์ จ.กาญจนบุรี) จนกระทั่งปัจจุบันมาทำงาน ได้พบกับศิษย์เก่า ซึ่งเป็นผู้ที่จบจากโรงเรียนคาทอลิกเป็นจำนวนมากที่มีคุณภาพ และเป็นบุคคลคุณภาพของสังคม ไม่ใช่เฉพาะมีคุณภาพสำหรับตัวเอง หรือครอบครัวเท่านั้น ในที่เป็นนี้การมีคุณภาพของสังคมคือ เป็นคนเก่ง และเป็นคนดี ลักษณะเด่นที่พบคือ จะเป็นคนที่นึกถึงคนอื่น และนึกถึงผลจากการกระทำของตนเองกับคนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งนำไปสู่การดำรงชีวิตและการทำงาน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้นึกถึงตนเองเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจากประสบการณ์นี้ที่ทางโรงเรียนคาทอลิกได้ผลิต เป็นทรัพยากรจากโรงเรียนคาทอลิกสำหรับสังคมนี้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า เรามีมากกว่าความพร้อม ที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แต่เราสามารถจะไปแบ่งปัน และสร้างให้ประชาคมอาเซียนนั้นดียิ่งขึ้น"

    คุณพ่ออภิสิทธิ์ กล่าวสรุปว่า "ผมเชื่อมั่นว่า โรงเรียนคาทอลิกของเรานั้นมีความต้องการที่จะพัฒนาทางด้านอัตลักษณ์ของเราอย่างไม่หยุด เพราะว่าเรายังไม่สมบูรณ์ อันนี้เป็นสิ่งที่เรายอมรับ และจะมีอีกหลายอย่างที่จะมากระทบกับเรา เพราะฉะนั้นเราต้องมีจุดยืน และต้องยืนให้มั่น อย่าเป๋ไปเป๋มา เพราะถ้าเราเป๋ไปเป๋มา เราจะไม่สามารถยืนอยู่ในกระแสสังคมแบบนี้ได้เพราะฉะนั้นแม้ว่าการเตรียมที่จะเข้าสู่ประชาคม อาเซียนนั้นจะเป็นอย่างไร ขอเพียงเรามีจุดยืนของเรา และผมขอให้กำลังใจผู้ทำงานด้านการศึกษา ขอให้พวกเรามีกำลังใจในการที่จะพัฒนาที่โดดเด่นจริงๆ ของเราคือเรื่องของความเชื่อ และคุณค่าของพระวรสาร"

    อ.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย และคุณพ่อจรัล ทองปิยะภูมิ บรรยายหัวข้อ "อัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิกในบริบทประชาคมอาเซียน"

    คุณพ่อจรัล กล่าวถึงการทำอัตลักษณ์ของการศึกษา ได้ร่วมกันเดินสายแบ่งปันถึง 16 ครั้ง นับรวมผู้ร่วมสัมมนากว่า 800 คน ทำให้ได้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปกครอง นักเรียน และยังได้ฟังเสียงเรียกร้องของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งท้าทายการศึกษาของคาทอลิก ฉะนั้นเราจึงมามองร่วมกันถึงรากฐานของการเป็นโรงเรียนคาทอลิกร่วมกัน เพื่อที่จะได้สามารถเดินก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคง และชัดเจน ซึ่งจะผ่านเราไปสู่คำถามที่ว่าทำไม และเพื่ออะไร ปลายทางคืออะไร ต้นทางคืออะไร นั่นเป็นคำถามที่สำคัญว่า เพราะอะไรเราจึงได้เลือกทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเราจะร่วมกันมองอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อจะได้มั่นคงในฐาน ในจิตตารมณ์ของการเป็นโรงเรียนคาทอลิก มุ่งสู่เป้าหมายที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์ของเรา

    แมร์ฟรังซัวส์ ชีรานนท์ นำเสนอประเด็น "การเคารพศักดิ์ศรีมนุษย์"


    ภาคบ่ายวันที่ 21 สิงหาคม 2012 มีพิธีบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กับสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เรื่องโครงการพัฒนาครูผู้สอน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โรงเรียนเอกชน สังกัดสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย จำนวน 322 โรงเรียน
     ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า พร้อมที่จะให้ และจะช่วยโรงเรียนคาทอิลก โดยการใช้เครื่องมือไอทีต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ของการศึกษาคาทอลิก ที่เน้น "คุณธรรม นำวิชาการ" ซึ่งจะให้เราดำเนินไปในโลกของศตวรรษที่ 21 โดยใช้เครื่องมือ ใช้หลักวิชาที่ทันสมัยช่วยตอบโจทย์ งดทำไม (WHY) งดอย่างไร (HOW) และงดใคร (WHO) ของเราได้อย่างมีกระบวนการต่อเนื่องที่มีอยู่ในเวลานี้

    ดร.พรพรรณ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับตัวของครูและนักเรียนในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ สูงสุดว่า "ดิฉันคิดว่าอย่างน้อยที่สุดต้องใช้ให้เหมาะกับบริบทของโรงเรียน และที่สำคัญคือในการใช้เครื่องมือเหล่านั้น คุณครูต้องใช้เป็น ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมโยงกับวิธีการเรียนการสอน ต้องปรับปรุงด้วยเช่นกัน เพราะถ้านำเครื่องมือที่ทันสมัยนั้นมาใช้ในการเรียนการสอนแบบเดิมก็จะไม่เป็นประโยชน์ แต่ว่าในตัวเครื่องมือชิ้นนั้นมีคุณภาพและคุณครูสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้น

    โลกข้างหน้าเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เข้าสู่ประชาคมโลก ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ที่จะเป็นแรงเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะเราต้องยอมรับว่าเนื้อหาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษาและในส่วนอื่นนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น ฉะนั้นเมื่อเรารู้ภาษาอังกฤษเราก็สามารถนำความรู้ต่างๆ มาต่อยอดได้ ซึ่งเป็นนิมิตที่ดีสำหรับการตัดสินใจเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) นั้น เราทุกฝ่าย ต้องตั้งรับให้ดี โดยเฉพาะคุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหารการศึกษาในระดับต่างๆ ถ้าเราร่วมมือกันและไปในทิศทางเดียวกันที่จะยกคุณภาพของคนทั้งประเทศ ซึ่งเชื่อว่าเยาวชนไทยที่เป็นผลผลิตจากการศึกษาก็น่าจะเป็นคนที่มีศักยภาพ และแข่งขันกับคนอื่นได้โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเราต้องทำต่อไป"



    ภราดาประภาส ศรีเจริญ ผู้รับใบอนุญาต ผู้อำนวยการ โรงเรียนลาซาลจันทบุรี ให้สัมภาษณ์ถึงโรงเรียนคาทอลิกไทยกับความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า "เราจะเห็นว่าโรงเรียนต่างๆ อีกหลายโรงเรียนตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมในรูปลักษณ์ภายนอก ด้านสื่อ ด้านนิเทศต่างๆ เราเห็นมีธงของประเทศต่างๆ มีป้ายประชาสัมพันธ์ถึงอาเซียน แต่สำหรับโรงเรียนคาทอลิกแล้ว เราเตรียมด้านคุณธรรม ซึ่งเป็นด้านหลัก ด้านศาสนา การอยู่ร่วมกัน การเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์แต่ละชาติ แต่ละประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ขอเชิญชวนพวกเราโรงเรียนคาทอลิก เราคงจะไม่เตรียมแต่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น เราควรเตรียมเด็กนักเรียนด้านจิตใจ ด้านศาสนา ด้านความเชื่อ และความแตกต่างของวิถีชีวิต ซึ่งจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญกว่าการเตรียมรูปลักษณ์ภายนอก"

    สำหรับการประชุมสัมมนาสภาการศึกษาคาทอลิกฯ ปีหน้า สังฆมณฑลราชบุรี เป็นประธาน

ประมวลภาพวันที่หนึ่ง | ประมวลภาพวันที่สอง | ประมวลภาพวันที่สาม | ประมวลภาพวันที่สี่